วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประวัติปฏิทิน ตอนที่ 3

เพียง 365 วัน ส่วนปี ค.ศ. 2000 นั้นให้มี 366 วัน ในเวลาต่อมา เมื่อนักดาราศาสตร์ชื่อ Christopher Clavius ตรวจพบว่า ปฏิทินในอดีตที่เคยใช้กันมานั้นผิดพลาด เขาจึงรายงานต่อสันตะปาปา สันตะปาปาจึงทรงกำหนดให้ลบวันที่ 5-14 ตุลาคม พ.ศ. 2125 ออกจากปฏิทินปีนั้น การลบวันที่ออกจากปฏิทินทำให้คนคริสเตียนนิกายโปรเตสแตนต์หลายคนไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าตนถูกทำให้มีอายุมากกว่าความเป็นจริงถึง 11 วัน แต่ชาวคริสเตียนนิกายคาทอลิกส่วนใหญ่พอใจ ดังนั้น ปี พ.ศ. 2125 จึงเป็นปีแรกของการใช้ปฏิทิน Gregory




ปฏิทิน Gregory มีความประเสริฐประการหนึ่งคือ ทำให้คริสต์ศาสนิกชนมีวันอีสเตอร์ตรงกัน และเมื่ออิทธิพลทางศาสนาของสันตะปาปาเพิ่มขึ้นๆ ในปี พ.ศ. 2295 ชาวอังกฤษจึงได้ยอมรับปฏิทิน Gregory โดยได้ยินยอมลบวันที่ 3-13 กันยายน ในปีดังกล่าวออกจากประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ส่วนรัสเซียได้หันมาใช้ปฏิทิน Gregory ในปี พ.ศ. 2460 หลังการปฏิวัติใหญ่ และทุกวันนี้ทุกประเทศทั่วโลกได้หันมายอมรับปฏิทิน Gregory และถือว่าปฏิทินนี้เป็นปฏิทินสากลที่มีจำนวนวันในแต่ละเดือนเท่ากัน และจำนวนเดือนในแต่ละปีก็เท่ากันด้วย ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ดีว่าปฏิทินยังไม่ถูกต้องดี 100% เพราะจะบอกวันผิดไป 1 วัน ใน 3,323 ปี

สำหรับการเฉลิมฉลองปีใหม่นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของคนทุกชาติมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยชาวกรีกเรียกวันปีใหม่ว่า hekatombe และได้กำหนดให้วันขึ้น 1 ค่ำวันแรกของฤดูร้อนเป็นวันปีใหม่ ซึ่งตามปกติจะมีการฆ่าวัว 100 ตัวในวันนั้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติของเทพธิดา Athena ผู้เป็นเทพพิทักษ์เมือง ส่วนชาวโรมันถือว่าวันที่สิ้นสุดฤดูหนาวคือวันปีใหม่ ซึ่งตามปกติจะตรงกับวันที่ 1 ของเดือน Martius แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 600 ชาวโรมันได้กำหนดใหม่ให้วันที่ 1 ของเดือน Januarius เป็นวันปีใหม่แทน โดยให้เหตุผลว่า เทพ Janus ผู้เป็นเทพประจำเดือน Januarius เป็นเทพที่มี 2 หน้า วันที่ 1 ของเดือน Januarius จึงเป็นวันที่อยู่ระหว่างปีเก่าที่กำลังจะจากไป และปีใหม่ที่กำลังจะย่างเข้ามา ซึ่งก็ตรงกับการมี 2 หน้าของเทพ Janus

นอกจากนี้ คนโรมันยังมีการกำหนดให้เที่ยงคืนเป็นเวลาที่อยู่ระหว่างวันเก่ากับวันใหม่ด้วย เพราะในสมัยนั้นผู้คนยังไม่มีข้อตกลงแน่ชัดว่า วันหนึ่งๆ ควรเริ่มเวลาใด เช่น คนกรีกได้เคยกำหนดว่า ให้วันปีใหม่เริ่มเมื่อพระจันทร์ขึ้น แต่ในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวนานกว่าเวลากลางคืน และเมื่อถึงฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่าเวลากลางวัน ดังนั้น การยึดติดกับเกณฑ์เวลาที่เห็นดวงจันทร์ในท้องฟ้า ทำให้จำนวนชั่วโมงของวันในฤดูร้อนมากกว่าจำนวนชั่วโมงของวันในฤดูหนาว แต่ถึงจะมีเวลากลางวันกับกลางคืนนานไม่เท่ากัน วันหนึ่งๆ ของคนกรีกและโรมันก็ยังคงมี 24 ชั่วโมงเท่ากับที่ชาว Babylon ได้เคยกำหนดไว้เมื่อ 4,000 ปีก่อน

ส่วนการกำหนดให้ 1 สัปดาห์มี 7 วันนั้น ก็มีประวัติความเป็นมาเช่นกัน คือตั้งแต่สมัยจักรพรรดิกรีกชื่อ Theodosuis ในสมัยเมื่อ 1,600 ปีก่อน พระองค์ได้ทรงเรียกชื่อวันตามชื่อของดาวที่เห็นในท้องฟ้า เช่น Sunday ตรงกับ Sun (ดวงอาทิตย์) Monday ตรงกับ Moon (ดวงจันทร์) Tuesday ตรงกับ Mars (ดาวอังคาร) Wednesday ตรงกับ Mercury (ดาวพุธ) Thursday ตรงกับ Jupiter (ดาวพฤหัสบดี) Friday ตรงกับ Venus (ดาวศุกร์) และ Saturday ตรงกับ Saturn (ดาวเสาร์) และการที่วันอังคารเป็น Tuesday และวันพุธเป็น Wednesday ฯลฯ ก็เพราะคนอังกฤษมีเทพประจำดาวที่ตนนับถือเช่นกัน เช่น เรียกวันแห่งเทพประจำดาวอังคารว่า Tieo's day แล้วคำคำนี้ได้เพี้ยนไปเป็น Tuesday หรือวันแห่งเทพประจำดาวพุธก็เรียกว่า Woden's day แล้วได้เปลี่ยนไปเป็น Wednesday ในที่สุด

และสำหรับการกำหนดปี ค.ศ. Anno Domini (A.D.) ซึ่งบอกจำนวนปีหลังจากที่พระเยซูประสูตินั้น บาทหลวง Dionysius Exiguus ได้กำหนดขึ้นในปี พ.ศ. 1068 ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้แน่นอน 100% ว่าพระเยซูประสูติเมื่อใด (นักประวัติศาสตร์ส่วนมากเชื่อว่า พระเยซูประสูติก่อนคริสต์ศักราช 4 ปี) และสำหรับการนับปีก่อนคริสต์ศักราช (B.C.) ซึ่งย่อมาจาก before the birth of Christ ก็เพิ่งใช้กันเมื่อประมาณ 400 ปีมานี้เอง อนึ่ง การย่อ B.C. เป็นการย่อในภาษาอังกฤษ ส่วน A.D. เป็นการย่อคำในภาษาละติน ทั้งนี้เพราะในสมัยก่อนภาษาละตินเป็นภาษาของชนที่ได้รับการศึกษา แต่เมื่อเวลาผ่านไปภาษาอังกฤษได้เข้ามาแทนที่ เป็นภาษาสากลที่ผู้คนทั่วโลกใช้ในการสื่อสารจนทุกวันนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น