วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประวัติปฏิทิน ตอนที่ 4

สันตะปาปา Gregory ที่ 13


ความวุ่นวายทั้งหลายในการทำปฏิทินนั้นเกิดจากการที่เรากำหนดให้ 1 ปี คือเวลาที่โลกใช้ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ซึ่งนานเท่ากับ 365.25 วัน และเมื่อเวลาไม่เป็นเลขจำนวนเต็ม และปฏิทินต้องใช้ตัวเลขจำนวนเต็ม ดังนั้น ความผิดพลาดของปฏิทิน Gregory จึงยังคงอยู่ และวันต่างๆ ในปีต่างๆ จะไม่ตรงกัน เช่น วันที่ 1 มกราคมของปี 03 เป็นวันพุธ แต่วันที่ 1 มกราคมของปี 04 เป็นวันพฤหัสบดี หรือวันเข้าพรรษาของปี 03 ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม แต่วันเดียวกันของปี 04 คือวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ เป็นต้น นักปฏิทินได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการจะให้วันต่่างๆ ในปฏิทินตรงกัน เช่น วันปีใหม่ วันอีสเตอร์ วันคริสต์มาส ฯลฯ ตรงกัน เราต้องคอยนาน 146,097 วัน หรือประมาณ 400 ปี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า วันทุกวันในปฏิทินปี 2126 จะเหมือนกับวันทุกวัน ในปฏิทินปี 2526 คือมีวันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชาต่างๆ ตรงกันหมด

ในการพยายามปรับปรุงปฏิทินให้แต่ละเดือนมีจำนวนวันเท่ากัน คือไม่ใช่มี 28, 29, 30 หรือ 31 บ้างนี้ เพราะได้คำนวณพบว่า จำนวนวันใน 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ไม่เท่ากับจำนวนวันที่มีใน 6 เดือนหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม) และวันในแต่ละ 3 เดือน ก็ไม่เท่ากันด้วย ซึ่งทำให้วันทำงาน (จันทร์-ศุกร์) ในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน เช่น บางเดือนมีวันทำงาน 24 วัน แต่บางเดือนก็มีวันทำงานถึง 27 วัน เป็นต้น

ในการมุ่งมั่นจะแก้ไขจุด "บกพร่อง" นี้ Auguste Comte ปราชญ์ฝรั่งเศสได้เคยเสนอ International Fixed Calendar ให้แบ่งปีหนึ่งเป็น 13 เดือน และ 1 เดือนมี 28 วัน เพราะ 13x28 = 364 วัน ดังนั้น จึงต้องมีวันพิเศษเพิ่มอีก 1 วันเพื่อให้ครบ 365 หรือเพิ่ม 2 วัน ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน โดยให้เพิ่มหลังวันที่ 28 มิถุนายน และ 28 ธันวาคม ตามลำดับ ข้อดีของปฏิทินนี้คือ แต่ละเดือนมี 4 สัปดาห์เท่ากัน และวันที่ 1 ของทุกเดือนเป็นวันอาทิตย์ วันปีใหม่ก็เป็นวันอาทิตย์ วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีจะตรงกับวันเสาร์ตลอดไปทุกปี

แต่การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้วันบางวัน เช่นวันที่ 29, 30 ของทุกเดือนหายไป ซึ่งทำให้คนที่เกิดวันเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะฉลองวันเกิดกันเมื่อไรดี ดังนั้น พวกอนุรักษนิยมจึงรู้สึกเดือดร้อนมาก

พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ความคิดต่างๆ ที่จะทำปฏิทินใหม่จึงยุติ และเมื่อยุติแล้วปฏิทินก็เหมือนกับเรื่องทั้งหลาย คือไม่มีการคิดจะเริ่มต้นทำใหม่อีก

ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็รู้ว่า ปฏิทินที่ใช้กันอยู่นี้ต้องปรับเปลี่ยนอีกในอนาคต โดยการปรับเล็กปรับน้อย ทั้งนี้เพราะโลกกำลังหมุนช้าลงๆ (0.5 วินาที ใน 100 ปี) และดวงจันทร์กำลังถอยห่างจากโลก (ประมาณ 2 เซนติเมตร/ปี) อีกทั้งดวงอาทิตย์ก็กำลังสูญเสียมวลตลอดเวลา (วินาทีละ 4 ล้านตัน) ทำให้เวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง เวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก และเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนั่นก็หมายความว่า ถึงแม้จะไม่มีใครตอบได้ว่า จากวันนี้ถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 10,000,000,000 มีกี่วัน แต่ทุกคนก็รู้อย่างมั่นใจว่า วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 10,000,000,000 เป็นวันปีใหม่ที่ทุกคนหยุดงานครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น